ทริปดูงาน

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555


    การเพิ่มผลผลิตกับเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทย
         ถ้าหากจะถือว่าการจัดตั้งศูนย์การเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 เป็นการเริ่มต้นของการนำแนวคิดการเพิ่มผลผลิตเข้ามาในสังคมไทย ก็นับว่าเป็นเวลาร่วม 40 ปี ซึ่งนานพอสมควรแล้วที่จะตั้งคำถามว่า คนไทยมีความเข้าใจกับแนวคิดนี้แค่ไหน แนวคิดนี้มีความสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยหรือไม่ และทำอย่างไรที่จะให้แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยแปรรูปจากแนวคิดมาเป็นพฤติกรรมที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า เพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคมในองค์รวมต่อไป
            สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเองภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเด็ดขาดเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับบรรดาข้าราชการที่รับสนองพระบรมราชโองการมาปกครองดูแลประชาชน ก็จะมีกระบวนการทำงานที่จำลองแบบการปกครองส่วนกลางมา
            กล่าวคือข้าราชการจะกลายเป็นเจ้านายของประชาชนอีกชั้นหนึ่ง อำนาจนั้นจะลดหลั่นกันไปตามยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นที่มาของคำว่าระบบศักดินา ซึ่งจะให้ความสำคัญกับผู้นำที่เป็นใหญ่ที่สุด โดยผู้น้อยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเป็นการทำงานแบบรวบอำนาจ ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
            การให้ความสำคัญกับผู้นำของสังคมไทย ปรากฏอยู่ในตำนาน พงศาวดาร นิทานพื้นบ้าน และสำนวนภาษา เช่น เมื่อเกิดปัญหา หรือความเดือดร้อนเกิดขึ้น มักจะเรียกหาวีรบุรุษ หรือพระเอกขี่ม้าขาวให้เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น คนไทยจึงมีนิสัยของการชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มักนำคำว่า ไปตายเอาดาบหน้ามาใช้กันบ่อยๆ
            แนวความคิดเช่นนี้มีความแตกต่างอย่างมากกับแนวความคิดการเพิ่มผลผลิตที่ต้องป้องกันก่อนปัญหาเกิดมากกว่าแก้ไขปัญหา จากการทำงานเป็นทีมที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละคนอาจไม่ใช่คนเก่งมากนัก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็จะสามารถแก้ปัญหาลุล่วงไปได้ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด มีข้อมูลที่จากความเป็นจริงมาประกอบการวิเคราะห์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
            การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกและเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สังคมไทยอยู่ในสภาพ พื้นไม่แน่น ในหลายด้าน เพราะคนยังขาดความพร้อม ขาดความรู้ ความเข้าใจ ทำให้เกิดพฤติกรรมแบบไทยๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ และขัดต่อการพัฒนาในแนวทางที่ถูกต้อง
            ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ พฤติกรรมของนักการเมือง ที่ใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องทางการเมือง ไม่รู้ว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน จึงไม่ใส่ใจในการรักษาสิทธิของตนเอง เกิดพฤติกรรมการซื้อขายเสียง การคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาเรื้อรัง
           นอกจากนั้นการเข้ามาของระบอบทุนนิยม เกิดกระแสของการแข่งขันตามกลไกตลาด มีผลให้เรื่องจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ถูกละเลย เกิดพฤติกรรมที่แสดงออกถึงค่านิยมที่ตกต่ำ การเอารัดเอาเปรียบและความมักง่าย เช่น ให้ความนิยมกับคนที่มียศ ตำแหน่ง เงินทองมากกว่าความดี
            จะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังให้การยอมรับนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจที่ร่ำรวย มีอำนาจแม้จะรู้ว่าบุคคลเหล่านั้นทุจริต คอรัปชั่น หรือทำอาชีพที่ผิดกฎหมาย ยอมรับวิธีการติดต่องานแบบมีใต้โต๊ะหรือการกินตามน้ำ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีการนำสำนวนไทยมาใช้ในทางที่ผิด เช่น คำว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งความหมายเดิมนั้นคือการสอนให้รู้จักให้อภัยผู้อื่น แต่กลับนำมาใช้ในพฤติกรรมแบบปัดสวะให้พ้นตัว มักง่าย
            ยกตัวอย่างการทิ้งน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมหรือบ้านเรือนลงแม่น้ำ ลำธาร ก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวน้ำก็พัดไปเอง
            สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยที่คนในชาติยังขาดความรู้สึกร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศ ขาดความคิดในการร่วมกันแก้ไขในสิ่งผิดที่จะมีผลกระทบต่อส่วนรวม ตลอดจนความคิดในการปรับปรุงตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเพิ่มผลผลิต ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกทางทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง ซึ่งจะเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ด้วยการผลักดันให้คนทั้งประเทศปรับแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับการที่เราตอบรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาในหลายรูปแบบในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา
            การนำแนวคิดการเพิ่มผลผลิตมาใช้ในสังคมไทย ต้องอาศัยเรื่องของการให้ความรู้ให้คนมีจิตสำนึกในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ให้เข้าใจถึงเป้าหมายของการทำงาน มีทิศทางร่วมกัน และต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเดิมที่ไม่ถูกต้อง เช่น ระบบศักดินาการทำงานก็เพื่อเจ้านาย แต่ในปัจจุบันข้าราชการต้องสำนึกว่า หน้าที่ที่แท้จริงคือการรับใช้ประชาชน
ที่มา http://youth.ftpi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=52&Itemid=42

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น