ทริปดูงาน

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                                                                 
             ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10  (พ.ศ. 2550-2554)เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุข มุ่งสู่สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า สังคมสีเขียว (Green Society) ด้วยหลักการดังกล่าว แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 นี้จะไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท

          ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เรียกสิ่งนี้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความไม่รู้ว่าจะนำปรัชญานี้ไปใช้ทำอะไร กลายเป็นว่าผู้นำสังคมทุกคน ทั้งนักการเมืองและรัฐบาลใช้คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นข้ออ้างในการทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อให้รู้สึกว่าได้สนองพระราชดำรัสและให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เศรษฐกิจพอเพียง ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อตัวเอง ซึ่งความไม่เข้าใจนี้อาจเกิดจากการสับสนว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้มีความเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการปฏิเสธอุตสาหกรรมแล้วกลับไปสู่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

          ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการเชิดชูสูงสุด จาก สหประชาชาติ (UN)โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาที่สามารถเริ่มได้จาก การสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ โดยที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน  
                                                                      ที่มา:sufficiencyeconomya.panyathai.com

สุวรรณ กันภัย ตัวอย่าง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ควรเอาอย่าง

ถ้าวันพรุ่งนี้ หรือวันต่อๆ ไป หากโลกนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เราจะนึกถึงอะไร...หรือนึกถึงใคร"
จั่วหัวไว้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าผมอยากจะกลับไปใช้ชีวิตแบบย้อนยุคนะครับ เพียงแต่เป็นหนึ่งในหลายๆ ความประทับใจต่อบุคคลที่ผมพานพบและคิดว่าน่าจะเป็นสาระและมุมมองในอีกแง่หนึ่งบนกับโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีในวันนี้ ก็เท่านั้นเองครับ ...
บ่ายของวันหนึ่ง หากดูตามปฏิทินก็คงจะย่างเข้าสู่วสันตฤดูแล้ว แต่อุณหภูมิของโลกยังดูเหมือนจะไม่ไยดีกับวันเวลาของปฏิทินที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ เพื่ออาศัยกลไกของธรรมชาติในการดำรงอยู่ของชีวิตที่ไม่จีรัง
ผมบึ่งรถไปตามถนนลาดยางจากอำเภอศีขรภูมิมุ่งหน้าสู่อำเภอสนม จุดหมายปลายทางที่ห่างกันเพียง ๓๐ ก.ม.ทิวทัศน์สองข้างทางที่เป็นท้องทุ่งเริ่มมีสีเขียวของหญ้าที่ระบัดใบ หลังจากท้องฟ้าประพรมความชุ่มฉ่ำพอให้คลายร้อน
ชาวนาบางส่วนที่ขยันทำมาหากิน จับจอบเสียมที่วางไว้หลายเดือนมาปรับแต่งคันนาเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อรอฝนใหญ่ที่จะมาถึงในวันข้างหน้า
สองข้างทางที่ดูโปร่งตา เริ่มหนาทึบไปด้วยไม้ใหญ่ เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอสนม ผมแวะซื้อยาเส้นจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปฝากผู้ที่ผมกำลังจะไปผม
ผ่านถนนคอนกรีตในตัวเมืองที่บ่งบอกถึงการทำงานของผู้มีส่วนรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปที่ไหนในชนบท
สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานมนาน ... และอาจจะเป็นแบบนี้อีกนาน
จากถนนคอนกรีตกลายเป็นถนนดิน ผ่านป่าทึบที่เปรียบเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน รถจักรยานที่สวนมามีผักปังเต็มตะกร้า
ในรัศมีไม่กี่มากน้อยเท่านั้นที่เห็น และแหล่งอาหารนั้นกำลังหดหายไปตามวัฏฏะของโลก

ห่างจากหมู่บ้านไม่ไกลนัก ท่ามกลางท้องนาที่ว่างเปล่า หากใครมาพบเห็นจะต้องสะดุดตากับความเขียวขจี บนพื้นที่ประมาณ ๙ ไร่ ของลุงสุวรรณ กันภัย เกษตรกรผู้ทรหด ที่ถือเป็นตำนานที่ยังคงมีชีวิตอยู่
แม้อากาศโดยทั่วไปในยามนี้จะร้อนปานใด หากแต่ย่างเข้าไปในบริเวณ "ไร่นา-สวนผสม" ของลุงสุวรรณแล้วเราจะรู้สึกถึงความแตกต่างแม้จะไม่มากนัก แต่ก็สัมผัสได้
...เย็นกาย เย็นตา และเย็นใจ...
ทางเดินขนาดสองคนเดินเคียงกันได้ จากปากทางเข้าสู่บ้านของลุง ดูสะอาดตา ตลอดสองข้างทางดาษดาไปด้วยพรรณไม้หลากชนิด ทั้งไม้ผลและผักสวนครัว
ในส่วนที่จัดแบ่งไว้ทำนา ข้าวในนาสูงราวศอก ขณะที่ผ่านมานั้น เกือบ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทำอะไรกับผืนนา คงเป็นเวลาเดียวกันกับข้าวในนาของลุงสุวรรณและครอบครัวตั้งท้อง โดยที่ชาวนาส่วนใหญ่กำลังลงกล้ากัน
ลานข้างๆ กระท่อมหลังน้อยของลุงสุวรรณกลายเป็นห้องรับแขกกลางทุ่งไปโดยปริยาย ป้าคำตันคู่ชีวิตของลุงกำลังนั่งห่อใบตองเพื่อทำขนมตาลกับหลานสาว
"จำผมได่บ่ป้า" ผมยกมือไหว้ทักทายพร้อมกับส่งของฝากที่มีชื่อเสียงของอำเภอศีขรภูมิ ..กาละแม
"นี่ยาเส้นของลุง ลุงไปไสละ"
ป้าทักทายอย่างเป็นกันเอง แม้ครั้งสุดท้ายที่มาเยือนจะผ่านไปเกือบปีแล้วก็ตาม
"ผมว่าจะแวะมาขอมะกรูดป้าไปสระผมนะครับ" ครั้งที่แล้ว ป้าเก็บมะกรูดถุงใหญ่ให้ผม เพื่อให้ผมเอาไป "สระผม" เพราะเห็น "ผม" ของผม ดูอาวุโสเกินวัย
และนับแต่นั้นมาเกือบปีแล้วที่ผม "สระผม" ด้วยมะกรูด อย่างต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ แรกๆ ก็ไม่ค่อยชินเท่าไหร่ แต่ผมก็ลองใช้กระทั่งแน่ใจว่า มะกรูด ทำให้ "ผม" ของผมดีขึ้นจริงๆ ที่แน่ๆ ผมไม่เคยมีรังแคและไม่เคยคันศีรษะเลยตั้งแต่ใช้มะกรูดสระผม
ใช้แบบสดๆ บีบน้ำใส่ "ผม" และเอาเปลือกถูให้ทั่วศีรษะ หรือจะต้มทั้งลูกแล้วปั่นเก็บไว้ก็ได้
ไม่ใช่ว่าผมจะกลับไปสู่ยุคอดีตนะครับ แต่ผมลองใช้แล้วไม่เสียหลาย อีกทั้งบ้านผมเองก็มีต้นมะกรูดที่ออกผลทั้งปีหากที่เก็บมาหมดแล้ว ผมก็จะไปเก็บ "ยาสระผม" มาใช้
ใช้แรกๆ ผมไม่ทราบว่ามันจะเป็นอย่างไรหรอกครับ มีอยู่หนหนึ่งผมไปเยี่ยมเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มูลนิธิพัฒนาอีสานพวกเขาถามผมว่า "ไปย้อมผมมาเหรอ" ทำไมไม่หงอกแล้ว
ผมก็อธิบายให้ฟังและอีกหลายคนที่ไม่เจอะหน้าค่าตาก็ทักแบบเดียวกัน จนผมต้องกลับไปสำรวจดู "ศีรษะ" ตัวเองใหม่
เรื่องนี้ผมเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง หลายคนสนใจ แม้กระทั่งเพื่อนที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่สุรินทร์นี่ยังขอไปทดลองใช้เลย
ลุงสุวรรณกับป้าคำตันนี่แหละที่แนะนำผม และหากใครได้เห็น "ผม" ของทั้งสองท่านนี้ จะดำสนิทเลยครับ ป้าเล่าให้ฟังว่าก็เก็บดอกอัญชันหน้ากระท่อมนั่นแหละมาใช้ด้วย
ทักทายกันตามสมควร ผมกับป้าเดินไปหาลุงสุวรรณที่มาผักผ่อนท้ายสวนกับหลานชาย ป้าตะโกนเรียกจนลุงตื่น พลอยให้หลานชายที่หลับอุตุตื่นขึ้นมาด้วย
ผมยกมือไหว้ขอโทษขอโพยลุง เลยไปถึงหลานชายด้วย ที่มารบกวนเวลาพักผ่อน
"น่าอิจฉานะลุง" ผมกล่าวด้วยใจจริง ลุงเชื้อเชิญให้ผมขึ้นมานั่งบนเถียงนาน้อยด้วยกัน
ลุงเล่าให้ฟังว่า เพิ่งมีนักเรียนจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง มาเยี่ยมเยียนดูงานเร็วๆ นี้เอง ตั้งหลายรุ่นแล้ว
...
ลุงสุวรรณมีความรู้ทางการศึกษาในระบบแค่ป.๔ และเคยผ่านงานกุลีในเหมืองแร่ที่ปักษ์ใต้กว่า ๖ ปี ก่อนจะมาทำงานในโรงงานย่านสมุทรปราการและในเมืองหลวงอีกหลายปี ในวัยหนุ่ม
กระทั่งตัดสินใจใช้ชีวิตคู่กับป้าคำตันเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว และนำคู่ชีวิตไปทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยความมุงานและเป็นคนจริงของลุงสุวรรณทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง ทำให้ลุงทำงานหนักขึ้นไปอีก เพื่อส่งเงินมายังบ้าน
สุดท้ายก็รู้ตัวว่าสุขภาพย่ำแย่ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อมุ่งหน้าสู่อาชีพของบรรพบุรุษ กับทุนรอนไม่กี่พันบาทผนวกกับที่นาที่พ่อตายกให้ส่วนหนึ่ง
แรกๆ ลุงก็ทำนาเหมือนกับชาวนาทั่วๆ ไป ทำไปทำมาก็มีแต่หนี้สิน เลยเปลี่ยนวิถีใหม่หันมาทำแบบผสมผสานแต่ไม่มีทฤษฎี เรียกว่า "ทำหา" ว่างั้นเถอะ
เป็นใครก็ต้องอ้าปากค้างหรือหาว่าลุงเสียสติ เมื่อรู้ว่าสระน้ำ บ่อน้ำ ที่ในผืนนาทั้งหมดนั้น ลุงขุดด้วยมือของลุงเองทั้งสิ้นด้วยหวังจะใช้นำในบ่อเพื่อรดพืช ผักที่ปลูกไว้

ในไร่นา-สวนผสมของลุงสุวรรณ แบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกข้าว ๒ ไร่ มีสระน้ำขนาดใหญ่ ๓-๔ บ่อ มีต้นมะนาวที่ให้ผลผลิตทั้งปีกว่า ๑๐๐ ต้น ชมพู่กว่า ๑๐๐ ต้น พืช ผักสวนครัว อาทิ หอม ยี่หร่า สาระแหน่ กะเพรา โหระพา ฯลฯ สารพัดชนิดรวมถึงปลาในสระ ทั้งหมดนี้กินได้ไม่รู้จบ
ผมประทับประโยคหนึ่งที่ลุงตอบคำถามว่า
"ลุงใช้อะไรเลี้ยงปลาในสระ" ลุงตอบว่า
"ลุงไม่ได้เลี้ยงปลา ปลาเลี้ยงลุง"

บ่อปลา ในแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง"
จากนาเชิงเดี่ยวในปี ๒๕๑๖ อีก และกว่า ๕ ปีที่มุ "ทำหา" (ทำไปเรื่อยเปื่อย) กระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ลุงสุวรรณกับป้าคำตัน "ทำหา" นั้นกลับกลายเป็นทรัพย์สินที่เก็บกินไม่รู้หมด ลูกหญิง-ชาย ที่ไปทำงานในเมืองหลวงก่อนก็ถูกเรียกกลับมาช่วย "ทำหา" ลุงสุวรรณสร้างบ้านหลังงามให้ลูกบนผืนนานั้นเอง
ทุกว้นนี้ นอกจากจะทำในสิ่งที่ลุงรักแล้วและอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังน้อยที่ปราศจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ซึ่งในครัวป้าคำตันยังคงใช้ฟืนที่เก็บจากไร่นานั่นเองในการหุงหาอาหาร
แม้จะมีความรู้แค่ ป.๔ ลุงสุวรรณ แต่ลุงยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรในด้านการทำเกษตรแบบพอเพียง ให้กับหน่วยงานราชการ, เกษตรกรทั้งไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ที่สนใจในอาชีพนี้อีกด้วย
ด้วยการศึกษาเพียง ป.๔ ลุงสุวรรณยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายกระทั่งประสบผลสำเร็จในชีวิตทำให้ผมทึ่งและน้อมรับ ยอมรับในความสามารถ หากเทียบกับคนที่มีการศึกษาสูงแล้ว (ถ้าหากเอาปริญญาเป็นตัวตั้ง--รวมทั้งผมด้วย) ลุงสุวรรณสมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นครูของแผ่นดิน
แน่นอนที่สุด ใบประกาศเกียรติคุณและเกียรติยศที่คนจบป.๔ อย่างลุงสุวรรณได้รับทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของคนนั้น ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเสมอไป
ลุงสุวรรณ ป้าคำตัน สระน้ำและต้นไม้ในสวนของลุงสอนผมหลายๆ อย่าง รวมทั้งหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิต ที่อยู่กันอย่างสมดุลและเอื้อต่อกัน
เกียรติ ชื่อเสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งสมมุติเท่านั้น
ยกมือไว้ร่ำราพร้อมกับมะกรูดถุงใหญ่
ขากลับผมแวะซื้อลูกปลานิล เอาไปปล่อยในสระที่บ้านสวนศีขรภูมิ
...
ผมนึกถึงเรื่องลุงสุวรรณ ขณะดูทีวีเห็นข่าวรถไฟใต้ดินในประเทศไทยจะเปิดใช้ในช่วงต้นปีหน้า
นึกถึงความเจริญของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ผมได้ไปเห็นแค่เสี้ยว
นึกถึงตอนตัวเองนั่งรถไฟฟ้าลอดใต้อุโมงค์ใต้น้ำจาก Oak Land ไป ซานฟรานซิสโก
... นึกถึงหลายอย่างที่พานพบ
...
ผมตั้งคำถามเล่นๆ ให้กับตัวเอง
"นับแต่พรุ่งนี้ ถ้าโลกไม่มีไฟฟ้า -- ใครจะอยู่ได้โดยไม่เดือนร้อนเลย"

ที่มา http://www.kradandum.com/people/people_01.htm

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

                                    

                         เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ




                    พระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง   



             “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗)
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)
พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น
                        ซึ่งหมายถึง แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นงคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป
                   ทรงเตือนเรื่องพออยู่พอกิน ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ คือ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว
                   แต่ทิศทางการพัฒนามิได้เปลี่ยนแปลง
                        “...เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...” (๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)




                                                            ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง


                “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง

                มีหลักพิจารณา ดังนี้

                กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

                คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

                คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

                เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรุ้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

2. เงื่อนไขความธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

                              การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

              เขียนโดย นายปรัชญา พลพุฒินันท์  (http://www.bkbr4.com/index.php/suffecotoed)

    ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษานั้น จะต้องมุ่งพัฒนาที่ตัวครูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะครูถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และปลูกฝังสิ่งต่างๆ ให้แก่เด็ก ดังนั้นจึงควรส่งเสริมครูให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ก่อน เพราะเมื่อครูเข้าใจ ครูก็จะได้เป็นแบบอย่างทีดีให้แก่เด็กได้ ครูจะสอนให้เด็กรู้จักพอ ครูจะต้องรู้จักพอก่อน โดยอยู่อย่างพอเพียงและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีสติในการเลือกรับข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา รู้จักเลือกรับและรู้จักต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ หมั่นศึกษา เพิ่มพูนความรู้ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ก้าวกระโดด ในการเลือกรับข้อมูลนั้น ต้องรู้จักพิจารณารับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รู้จักแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประเมินความรู้และสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา   จะได้รู้จัก และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพ และผลจากการเปลี่ยนแปลงในมติต่างๆได้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง
               เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อน คือ การทำให้เด็กรู้จักความพอเพียง ปลูกฝัง อบรม บ่มเพาะให้เด็กมีความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยสอดแทรกแนวคิดปรัชญาของเศรษฐ กิจพอเพียงให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สาระเรียนรู้ต่างๆเพื่อสอนให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ รู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมค่านิยม ความเป็นไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รู้ว่าตนเองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของโลก การกระทำของตนย่อมมีผลและเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมในโลกที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สำคัญคือครูจะต้องรู้จักบูรณาการการเรียนการสอนให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งความเป็นองค์รวมนี้จะเกิดขึ้นได้ ครูต้องโดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน
               นอกจากนี้ ในการส่งเสริมให้นำหลักปรัชญาฯไปใช้ในสถานศึกษาต่างๆ นั้น อาจจะใช้วิธี “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ตามหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า สำคัญที่สุดครูต้องเข้าใจเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อน โดยเข้าใจว่าแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวคิดที่สามารถเริ่ม ต้น และปลูกฝังได้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน เช่น กิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนการกำจัดขยะในโรงเรียนการสำรวจทรัพยากรของชุมชนฯลฯ
               ก่อนอื่น ครูต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี โดยกลับมาพิจารณาและวิเคราะห์ดูว่า ในตัวครูนั้นมีความไม่พอเพียงในด้านใดบ้าง เพราะการวิเคราะห์ปัญหาจะทำให้รู้และเข้าใจปัญหา ที่เกิดจากความไม่พอเพียง รวมทั้งควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาด้วย โดยการวิเคราะห์นี้ต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของความรู้และคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจเด็กให้ได้ก่อน ผ่านกิจกรรมที่ครูเป็นผู้คิดขึ้นมา โดยครูในแต่ละโรงเรียนจะต้องมานั่งพิจารณาก่อนว่า จะเริ่มต้นปลูกฝัง แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากจุดไหน ทุกคนควรมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ สามัคคีกันในกระบวนการหารือ
    หลังจากที่ครูได้ค้นหากิจกรรมที่จะปลูกฝังแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ครูควรจะต้องตั้ง เป้าหมายการสอนก่อนว่าครูจะสอนเด็กให้รู้จักพัฒนาตนเองได้อย่างไรโดยอาจเริ่มต้นสอนจากกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ ที่สามารถเริ่มต้นจากตัวเด็กแต่ละคนให้ได้ก่อน เช่น การเก็บขยะ  การประหยัดพลังงาน ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัย ที่ตนเองมีต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกในด้านต่างๆ 4 มิติ
              ในส่วนของการเข้าถึงนั้น เมื่อครูเข้าใจแล้ว ครูต้องคิดหาวิธีที่จะเข้าถึงเด็ก พิจารณาดูก่อนว่าจะสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เข้าไปในวิธีคิดและในวิชาการต่างๆ ได้อย่างไร ทั้งนี้ อาจจัดกิจกรรมกลุ่มให้นักเรียนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ รู้จักแบ่งหน้าที่กันตามความสามารถของเด็กในแต่ละช่วงชั้น เช่น ในกิจกรรมการเก็บขยะเพื่อรักษาความสะอาดของโรงเรียนนั้น ครูอาจจัดกิจกรรมสำหรับเด็กในแต่ละช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 สร้างกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กช่วยกันเก็บขยะ (ให้เด็กรู้หน้าที่ของตน ในระดับบุคคล)/ ช่วงชั้นที่ 2 สร้างกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กช่วยกันเก็บขยะและนับขยะ (ให้รู้จักการวิเคราะห์และรู้ถึงความเชื่อมโยงของตนเองกับสมาชิกคนอื่นๆ ในโรงเรียน) / ช่วงชั้นที่ 3 สร้างกิจกรรมที่สอนให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงกับชุมชนภายนอกรอบๆ โรงเรียน เช่น สร้างกิจกรรมที่สอนให้เด็กรู้จักแบ่งแยกขยะ ร่วมมือกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่โรงเรียนและชุมชนของเขาตั้งอยู่ด้วย
               กิจกรรมทั้งหมดนี้สำคัญคือ ต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยสถานศึกษาควรตั้งเป้าให้เกิดการจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง สอดแทรกเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ สอนให้เด็กพึ่งตนเองให้ได้ก่อนจนสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่นๆในสังคมได้ต่อไป

การจัดการศึกษาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
              การจัดการศึกษาตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถดำเนินการได้ใน 2 ส่วน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานศึกษา และส่วนที่เป็นการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ ประกอบด้วย การสอดแทรกสาระเศรษฐกิจพอเพียง ในหลักสูตรและสาระเรียนรู้ในห้องเรียนและประยุกต์หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
               การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาในระยะแรก ได้เริ่มจากการไปค้นหากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มีคุณลักษณะ และการจัดการที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือพอประมาณกับศักยภาพของนักเรียน พอประมาณกับภูมิสังคมของโรงเรียนและชุมชนที่ตั้ง เช่น เด็กช่วงชั้นที่ 2 ทำสหกรณ์ได้ เด็กช่วงชั้นที่ 4 ดูแลสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมให้ใช้ความรู้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ฝึกให้เด็กคิดเป็นทำเป็นอย่างมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันส่งเสริมให้เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีวินัย มีสัมมาคารวะ ปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานวัฒนธรรมไทย กล่าวคือ สอนให้ผู้เรียน ยึดมั่นในหลักศีลธรรม พัฒนาคนให้เขารู้จักทำประโยชน์ให้กับสังคมและช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และตัวกิจกรรมเองก็ต้องยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ ถึงจะเปลี่ยนผู้อำนวยการแต่กิจกรรมก็ยังดำเนินอยู่อย่างนี้เรียกว่ามีภูมิคุ้มกัน
               การค้นหาตัวอย่างกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ก็เพื่อให้มีตัวอย่างรูปธรรม ในการสร้างความเข้าใจภายในวงการศึกษาว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงหมายความว่าอย่างไร และสามารถนำไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง หลังจากนั้น ก็ส่งเสริมให้บูรณาการการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเหล่านี้     เข้าไปในการเรียนรู้สาระต่างๆ บูรณาการเข้ากับทุกสาระเรียนรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้เกิดสมดุลทางสิ่งแวดล้อม บูรณาการเข้ากับวิชาคณิตศาสตร์ ในการสอนการคำนวณที่มีความหมายในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง หรือบูรณาการเข้ากับสาระภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สุขศึกษา พลศึกษา การงานอาชีพ เทคโนโลยีต่างๆ ได้หมด นอก เหนือ
จากการสอนในสาระหลักคือในกลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาวัฒนธรรมเท่านั้น
    สำหรับมาตรฐานการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์ให้ทุกช่วงชั้นเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถประยุกต์ใช้ได้ แต่ถ้ามาตรฐานเรียนรู้ของทุกช่วงชั้นเหมือนกันหมดก็จะมีปัญหาทางปฏิบัติ จึงต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในการเรียนการสอนของแต่ละช่วงชั้นและแต่ละชั้นปีดังนี้
               ช่วงชั้นที่ 1 เน้นให้เด็กพึ่งตนเองได้ หรือใช้ชีวิตพอเพียงระดับบุคคลและครอบครัว เช่น ประถม 1 ช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ล้างจานชาม เก็บขยะไปทิ้ง กวาดบ้าน จัดหนังสือไปเรียนเอง แบ่งปันสิ่งของให้เพื่อน กินอาหารให้หมดจาน  ประถม 2 วิเคราะห์รายจ่ายของครอบครัว จะมีเป็นตารางกรอกค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัว คุณแม่ซื้ออะไรบ้าง คุณพ่อซื้ออะไรบ้าง เด็กจะได้รู้พ่อแม่หาเงินมายากแค่ไหน เช่น ยาสีฟันหลอดละ 46 บาท จะต้องไม่เอามาบีบเล่น จะต้องสอนให้เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งของ ให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของเงินทอง จะได้ฝึกนิสัยประหยัด ครอบครัวมีรายได้และรายจ่ายเท่าไร เด็กจะได้ฝึกจิตสำนึกและนิสัยพอเพียง มีหลายโรงเรียนทำแล้ว ประถม 3 สอนให้รู้จักช่วยเหลือครอบครัวอย่างพอเพียงและรู้จักแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นมีส่วนร่วมสร้างครอบครัวพอเพียง
               ช่วงชั้นที่ 2 ฝึกให้เด็กรู้จักประยุกต์ใช้หลักความพอเพียงในโรงเรียน สามารถวิเคราะห์วางแผนและจัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตนเองและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในการสร้างความพอเพียงระดับโรงเรียน และชุมชนใกล้ตัว โดยเริ่มจากการสำรวจทรัพยากรต่างๆ ในโรงเรียนและชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรต่างๆ ทั้งด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ มาเป็นข้อมูลในการเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนและเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
               ช่วงชั้นที่ 3 ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน สามารถสำรวจและวิเคราะห์ความพอเพียงในระดับต่างๆ และในมิติต่างๆ ทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมในชุมชนใกล้ตัว เห็นคุณค่าของการใช้หลักพอเพียงในการจัดการชุมชน และในที่สุดแล้วสามารถนำหลักการพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ความพอเพียงได้ในที่สุด
               ช่วงชั้นที่ 4 เตรียมคนให้เป็นคนที่ดีต่อประเทศชาติสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้     ต้องเริ่มเข้าใจความพอเพียงระดับประเทศ และการพัฒนาประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เช่น  การวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ หรือการศึกษาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมสภาพปัญหาด้านสังคมเป็นอย่างไรแตกแยกหรือสามัคคีเป็นต้น
               ขณะนี้คณะทำงานขับเคลื่อนด้านการศึกษาและเยาวชน ทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายหน่วยงาน วิสัยทัศน์ของการขับเคลื่อน คือ สานเครือข่าย ขยายความรู้ ควบคู่ประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาฯ และให้บุคลากรด้านการศึกษา สามารถนำหลักคิดหลักปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มาบูรณาการสู่การเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของทุกระดับได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ตลอดจนผู้บริหารสามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในการบริหารสถานศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุข

ที่มา http://www.loeitech.ac.th/web/news/2553/popeng.htm



      เศรษฐกิจแบบพอเพียง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ " พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้ ดังนี้
"….ในการสร้างถนน สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้ และค้าขายได้…"
          ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงขึ้นนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนในแนวพระราชดำริของ  "เศรษฐกิจพอเพียง"  ซึ่งได้ทรงคิดและตระหนักมาช้านาน  เพราะหากเราไม่ไปพี่งพา ยึดติดอยู่กับกระแสจากภายนอกมากเกินไป  จนได้ครอบงำความคิดในลักษณะดั้งเดิมแบบไทยๆไปหมด มีแต่ความทะเยอทะยานบนรากฐานที่ไม่มั่นคงเหมือนลักษณะฟองสบู่  วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้น หรือไม่หนักหนาสาหัสจนเกิดความเดือดร้อนกันถ้วนทั่วเช่นนี้   ดังนั้น "เศรษฐกิจพอเพียง"  จึงได้สื่อความหมาย ความสำคัญในฐานะเป็นหลักการสังคมที่พึงยึดถือ
          ในทางปฏิบัติจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงคือ   การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักการและกระบวนการทางสังคม  ตั้งแต่ขั้นฟื้นฟูและขยายเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน  เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและบริโภคอย่างพออยู่พอกินขึ้นไปถึงขั้นแปรรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน สร้างอาชีพและทักษะวิชาการที่หลากหลายเกิดตลาดซื้อขาย สะสมทุน  ฯลฯ  บนพื้นฐานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนนี้  เศรษฐกิจของ 3 ชาติ จะพัฒนาขึ้นมาอย่างมั่นคงทั้งในด้านกำลังทุนและตลาดภายในประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายในชาติ และทั้งที่จะพึงคัดสรรเรียนรู้จากโลกภายนอก
          เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผู้พันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า”

          ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์ และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้ความพอใจและความสุข (Maximization of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้ และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้ ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า” จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้ รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน

          การบริโภคที่ฉลาดดังกล่าวจะช่วยป้องกันการขาดแคลน แม้จะไม่ร่ำรวยรวดเร็ว แต่ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามทุกข์ภัยก็ไม่ขาดแคลน และสามารถจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยไม่ต้องหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากเกินไป เพราะฉะนั้นความพอมีพอกินจะสามารถอุ้มชูตัวได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง และความพอเพียงนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง แต่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างหมู่บ้าน เมือง และแม้กระทั่งระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือการบริโภคนั้นจะทำให้เกิดความรู้ที่จะอยู่ร่วมกับระบบ รักธรรมชาติ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพราะไม่ต้องทิ้งถิ่นไปหางานทำ เพื่อหารายได้มาเพื่อการบริโภคที่ไม่เพียงพอ

          ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรและยังมีพอสำหรับประชาชนไทยถ้ามีการจัดสรรที่ดี โดยยึด " คุณค่า " มากกว่า " มูลค่า " ยึดความสัมพันธ์ของ “บุคคล” กับ “ระบบ” และปรับความต้องการที่ไม่จำกัดลงมาให้ได้ตามหลักขาดทุนเพื่อกำไร และอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคม

          การผลิตจะเสียค่าใช้จ่ายลดลงถ้ารู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในขบวนการธรรมชาติมาปรุงแต่ง ตามแนวพระราชดำริในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วซึ่งสรุปเป็นคำพูดที่เหมาะสมตามที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ตินณสูลานนท์ ที่ว่า “…ทรงปลูกแผ่นดิน ปลูกความสุข ปลดความทุกข์ของราษฎร” ในการผลิตนั้นจะต้องทำด้วยความรอบคอบไม่เห็นแก่ได้ จะต้องคิดถึงปัจจัยที่มีและประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างเช่นบางคนมีโอกาสทำโครงการแต่ไม่ได้คำนึงว่าปัจจัยต่าง ๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกรที่เหมาะสม เกษตรกรก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าใช้วัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานั้น เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกล หรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก หรือกรณีใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรรู้ดีว่าเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่เพิ่มนั้นจะล้นตลาด ขายได้ในราคาที่ลดลง ทำให้ขาดทุน ต้องเป็นหนี้สิน


          การผลิตตามทฤษฎีใหม่สามารถเป็นต้นแบบการคิดในการผลิตที่ดีได้ ดังนี้

          1. การผลิตนั้นมุ่งใช้เป็นอาหารประจำวันของครอบครัว เพื่อให้มีพอเพียงในการบริโภคตลอดปี เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันและเพื่อจำหน่าย
          2. การผลิตต้องอาศัยปัจจัยในการผลิต ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อม เช่น การเกษตรต้องมีน้ำ การจัดให้มีและดูแหล่งน้ำ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการผลิต และประโยชน์ใช้สอยอื่น ๆ
          3. ปัจจัยประกอบอื่น ๆ ที่จะอำนวยให้การผลิตดำเนินไปด้วยดี และเกิดประโยชน์เชื่อมโยง (Linkage) ที่จะไปเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการผลิต จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้ง เกษตรกร ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเศรษฐกิจการค้า และให้ดำเนินกิจการควบคู่ไปด้วยกันได้

          การผลิตจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” การผลิตนั้นต้องยึดมั่นในเรื่องของ “คุณค่า” ให้มากกว่า “มูลค่า” ดังพระราชดำรัส ซึ่งได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ว่า

          “…บารมีนั้น คือ ทำความดี เปรียบเทียบกับธนาคาร …ถ้าเราสะสมเงินให้มากเราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ย โดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกิดไป หรือเราไม่ระวัง เรากิน เข้าไปในทุน ทุนมันก็น้อยลง ๆ จนหมด …ไปเบิกเกินบัญชีเขาก็ต้องเอาเรื่อง ฟ้องเราให้ล้มละลาย เราอย่าไปเบิกเกินบารมีที่บ้านเมือง ที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกินไป เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศของเราปกติมีอนาคตที่มั่นคง บรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ได้สร้างบ้านเมืองมาจนถึงเราแล้ว ในสมัยนี้ที่เรากำลังเสียขวัญ กลัว จะได้ไม่ต้องกลัว ถ้าเราไม่รักษาไว้…”

          การจัดสรรทรัพยากรมาใช้เพื่อการผลิตที่คำนึงถึง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายทั้งทุนสังคมและทุนเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะต้องไม่ติดตำรา สร้างความรู้ รัก สามัคคี และความร่วมมือร่วมแรงใจ มองกาลไกลและมีระบบสนับสนุนที่เป็นไปได้

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริให้ประชาชนยอมรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยให้วงจรการพัฒนาดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ กล่าวคือ

          ทรงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness) ในทุกคราเมื่อ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาคต่าง ๆ จะทรงมีพระราชปฏิสันถารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ควรรู้ เช่น การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลาย และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะช่วยประหยัดและบำรุงดิน การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้สามารถกระทำได้ การ ตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง เป็นต้น ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ได้แก่

          “….ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกัน ทำได้….”

          ทรงสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest) หลายท่านคงได้ยินหรือรับฟัง โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีนามเรียกขานแปลกหู ชวนฉงน น่าสนใจติดตามอยู่เสมอ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย หรือโครงการน้ำสามรส ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น ล้วนเชิญชวนให้ ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็จะมีพระราชาธิบายแต่ละโครงการอย่างละเอียด เป็นที่เข้าใจง่ายรวดเร็วแก่ประชาชนทั้งประเทศ

          ในประการต่อมา ทรงให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล (Evaluate) ด้วยการศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร สามารถนำไปปฏิบัติได้ในส่วนของตนเองหรือไม่ ซึ่งยังคงยึดแนวทางที่ให้ประชาชนเลือกการพัฒนาด้วยตนเอง ที่ว่า
          “….ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลา เป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้ แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องค่อยพยายามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร….”

          ในขั้นทดลอง (Trial) เพื่อทดสอบว่างานในพระราชดำริที่ทรงแนะนำนั้นจะได้ผลหรือไม่ซึ่งในบางกรณีหากมีการทดลองไม่แน่ชัดก็ทรงมักจะมิให้เผยแพร่แก่ประชาชน หากมีผลการทดลองจนแน่พระราชหฤทัยแล้วจึงจะออกไปสู่สาธารณชนได้ เช่น ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้น ได้มีการค้นคว้าหาความเหมาะสมและความเป็นไปได้จนทั่วทั้งประเทศว่าดียิ่งจึงนำออกเผยแพร่แก่ประชาชน เป็นต้น

          ขั้นยอมรับ (Adoption) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น เมื่อผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอน บ่ม เพาะ และมีการทดลองมาเป็นเวลานาน ตลอดจนทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถานที่อื่น ๆ เป็นแหล่งสาธิตที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ถึงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ดังนั้น แนวพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับผลดีต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไร

          แนวพระราชดำริทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระสติปัญญา ตรากตรำพระวรกาย เพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายได้มีความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรยั่งยืนนาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยตลอดเวลามากกว่า 50 ปี จึงกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นสมควรอย่งยิ่งที่ทวยราษฎรจักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ตามที่ทรงแนะนำ สั่งสอน อบรมและวางแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนเช่นกัน โดยการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขึ้นตอนต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตาหลักวิชาการ เพื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริม ความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ จะก่อให้เกิดความยั่งยืนและจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคม สุดท้ายเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน

ประการที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง

          1. พอมีพอกิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน เหลือจึงขายไป
          2. พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ (ใช้จุลินทรีย์ผสมน้ำถูพื้นบ้าน จะสะอาดกว่าใช้น้ำยาเคมี) รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น (ประหยัดค่ารักษาพยาบาล)
          3. พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตน ไม่ใคร่อยากใคร่มีเช่นผู้อื่น เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ ปัญญาจะไม่เกิด

          " การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง "

"เศรษฐกิจพอเพียง" จะสำเร็จได้ด้วย "ความพอดีของตน"
รูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงภาคใต้
                                รูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง








    การเพิ่มผลผลิตกับเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทย
         ถ้าหากจะถือว่าการจัดตั้งศูนย์การเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 เป็นการเริ่มต้นของการนำแนวคิดการเพิ่มผลผลิตเข้ามาในสังคมไทย ก็นับว่าเป็นเวลาร่วม 40 ปี ซึ่งนานพอสมควรแล้วที่จะตั้งคำถามว่า คนไทยมีความเข้าใจกับแนวคิดนี้แค่ไหน แนวคิดนี้มีความสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยหรือไม่ และทำอย่างไรที่จะให้แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยแปรรูปจากแนวคิดมาเป็นพฤติกรรมที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า เพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคมในองค์รวมต่อไป
            สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเองภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเด็ดขาดเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับบรรดาข้าราชการที่รับสนองพระบรมราชโองการมาปกครองดูแลประชาชน ก็จะมีกระบวนการทำงานที่จำลองแบบการปกครองส่วนกลางมา
            กล่าวคือข้าราชการจะกลายเป็นเจ้านายของประชาชนอีกชั้นหนึ่ง อำนาจนั้นจะลดหลั่นกันไปตามยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นที่มาของคำว่าระบบศักดินา ซึ่งจะให้ความสำคัญกับผู้นำที่เป็นใหญ่ที่สุด โดยผู้น้อยไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเป็นการทำงานแบบรวบอำนาจ ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
            การให้ความสำคัญกับผู้นำของสังคมไทย ปรากฏอยู่ในตำนาน พงศาวดาร นิทานพื้นบ้าน และสำนวนภาษา เช่น เมื่อเกิดปัญหา หรือความเดือดร้อนเกิดขึ้น มักจะเรียกหาวีรบุรุษ หรือพระเอกขี่ม้าขาวให้เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น คนไทยจึงมีนิสัยของการชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มักนำคำว่า ไปตายเอาดาบหน้ามาใช้กันบ่อยๆ
            แนวความคิดเช่นนี้มีความแตกต่างอย่างมากกับแนวความคิดการเพิ่มผลผลิตที่ต้องป้องกันก่อนปัญหาเกิดมากกว่าแก้ไขปัญหา จากการทำงานเป็นทีมที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละคนอาจไม่ใช่คนเก่งมากนัก แต่เมื่อรวมกันแล้วก็จะสามารถแก้ปัญหาลุล่วงไปได้ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด มีข้อมูลที่จากความเป็นจริงมาประกอบการวิเคราะห์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
            การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตกและเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สังคมไทยอยู่ในสภาพ พื้นไม่แน่น ในหลายด้าน เพราะคนยังขาดความพร้อม ขาดความรู้ ความเข้าใจ ทำให้เกิดพฤติกรรมแบบไทยๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ และขัดต่อการพัฒนาในแนวทางที่ถูกต้อง
            ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ พฤติกรรมของนักการเมือง ที่ใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องทางการเมือง ไม่รู้ว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน จึงไม่ใส่ใจในการรักษาสิทธิของตนเอง เกิดพฤติกรรมการซื้อขายเสียง การคอรัปชั่นที่เป็นปัญหาเรื้อรัง
           นอกจากนั้นการเข้ามาของระบอบทุนนิยม เกิดกระแสของการแข่งขันตามกลไกตลาด มีผลให้เรื่องจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ถูกละเลย เกิดพฤติกรรมที่แสดงออกถึงค่านิยมที่ตกต่ำ การเอารัดเอาเปรียบและความมักง่าย เช่น ให้ความนิยมกับคนที่มียศ ตำแหน่ง เงินทองมากกว่าความดี
            จะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังให้การยอมรับนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจที่ร่ำรวย มีอำนาจแม้จะรู้ว่าบุคคลเหล่านั้นทุจริต คอรัปชั่น หรือทำอาชีพที่ผิดกฎหมาย ยอมรับวิธีการติดต่องานแบบมีใต้โต๊ะหรือการกินตามน้ำ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีการนำสำนวนไทยมาใช้ในทางที่ผิด เช่น คำว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งความหมายเดิมนั้นคือการสอนให้รู้จักให้อภัยผู้อื่น แต่กลับนำมาใช้ในพฤติกรรมแบบปัดสวะให้พ้นตัว มักง่าย
            ยกตัวอย่างการทิ้งน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมหรือบ้านเรือนลงแม่น้ำ ลำธาร ก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวน้ำก็พัดไปเอง
            สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยที่คนในชาติยังขาดความรู้สึกร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศ ขาดความคิดในการร่วมกันแก้ไขในสิ่งผิดที่จะมีผลกระทบต่อส่วนรวม ตลอดจนความคิดในการปรับปรุงตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเพิ่มผลผลิต ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกทางทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง ซึ่งจะเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ด้วยการผลักดันให้คนทั้งประเทศปรับแนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับการที่เราตอบรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาในหลายรูปแบบในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา
            การนำแนวคิดการเพิ่มผลผลิตมาใช้ในสังคมไทย ต้องอาศัยเรื่องของการให้ความรู้ให้คนมีจิตสำนึกในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ให้เข้าใจถึงเป้าหมายของการทำงาน มีทิศทางร่วมกัน และต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเดิมที่ไม่ถูกต้อง เช่น ระบบศักดินาการทำงานก็เพื่อเจ้านาย แต่ในปัจจุบันข้าราชการต้องสำนึกว่า หน้าที่ที่แท้จริงคือการรับใช้ประชาชน
ที่มา http://youth.ftpi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=52&Itemid=42